การรับพนักงานใหม่เข้ามาสู่องค์กร จะเป็นเรื่องยากที่ทราบได้ว่า พนักงานดังกล่าวจะกระทำความผิดเกิดขึ้นในบริษัทในอนาคตหรือไม่ นั่นแหละเป็นสิ่งที่ยากสำหรับการคาดเดาได้ นอกจากว่าผู้บริหารจะต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมพนักงาน หรือวางระบบงานที่ไม่ให้พนักงาน จะต้องเข้าไปอยู่ในกระบวนการ ที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับเงินสด ซึ่งเป็นสิ่งที่ล่อตาล่อใจพนักงาน อยู่ทุกวัน ก็ยิ่งทำให้เกิดความอยากได้ และเกิดปัญหาการทุจริตของพนักงานตามมา
พฤติกรรมพนักงานที่หัวหน้า/ผู้จัดการ ต้องเข้าใจ หมั่นสังเกตลูกน้องตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงาน ว่าพนักงานที่เป็นลูกน้องมีพฤติกรรมลักษณะใดบ้าง เช่น การทดสอบมอบหมายงาน การเบิกของจากบริษัท การทำงานล่วงเวลา การเบิกค่าเบี้ยเลี้ยง การเบิกค่าเลี้ยงรับรอง และการเบิกค่าพาหนะ การเบิกค่าน้ำมัน เป็นต้น
เมื่อพนักงานที่เข้ามาใหม่ อยู่ในตำแหน่งที่เป็นระดับพนักงานเล็กๆ ก็จะมีช่องทางเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถหารายได้จากลักษณะงานที่ปฏิบัติอยู่ ตัวอย่างเช่น มีพนักงานขอเบิกค่า Taxi แต่ในความเป็นจริงพนักงานนั่งรถเมล์ อยู่เป็นประจำ จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง พนักงานนั่งรถเมล์มาลงหน้าบริษัทต่อหน้า หัวหน้า/ผู้จัดการ แต่พนักงานก็ยังขอทำเบิกค่า Taxi ให้หัวหน้าเซ็นอนุมัติ ซึ่งหัวหน้าก็มีความเห็นว่า เป็นสิทธิของพนักงานที่เขาควรจะเบิกได้
กรณีพนักงานการตลาด ขอเบิกค่าน้ำมัน โดยใช้รถส่วนตัวไปปฏิบัติงาน โดยเขียนเบิกค่าน้ำมันตามระยะทางทั้งหมดที่รวมการเดินทางมาจากบ้านถึงที่ทำงานด้วย ซึ่งบริษัทไม่ได้มีการทักท้วง ให้มีการปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้ตลอดมา หัวหน้า/ผู้จัดการมองว่า เป็นการตอบแทนพนักงาน ที่ใช้รถส่วนตัวไปปฏิบัติงานให้กับบริษัท
จากทั้งสองกรณีที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่าง มาเป็นกรณีศึกษา เพื่อที่จะให้ผู้บริหารองค์กรเกิดความตระหนักว่า การที่หัวหน้าหรือผู้จัดการปล่อยให้พนักงานที่เป็นลูกน้องได้ยึดถือปฏิบัติที่ผิดๆ จะทำให้เกิดการเสริมแรงให้พนักงานคิดที่จะมองถึงผลประโยชน์ที่ตนเองควรจะได้รับอยู่ตลอดเวลา จะพยายามหาประโยชน์จากการปฏิบัติงานที่เขาทำ ถ้างานดังกล่าวไม่ได้มีสิ่งที่ตอบแทน ที่เห็นเป็นรูปธรรม พนักงานจะไม่อยากทำงาน
การกระทำผิดที่เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ หัวหน้าผู้จัดการไม่ควรมองข้ามในจุดนี้ไป อย่างเช่นกรณีที่พนักงานทำเบิกค่า Taxi แต่แท้ที่จริงนั่งรถเมล์ การขออนุมัติจากพนักงาน หัวหน้า/ผู้จัดการ ควรจะกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ตรงไปตรงมา โดยการเรียกพนักงานที่ขอทำเบิกค่า Taxi มาตักเตือนหรือลงโทษ และบอกในสิ่งที่ถูกต้องตามระเบียบบริษัทว่าควรทำอย่างไร ซึ่งบางบริษัทอาจจะใช้กรณีศึกษาดังกล่าว ยกขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์ โดยไม่ต้องเอ่ยนามว่าเป็นหน่วยงานใด ยกตัวอย่างเป็นหัวข้อในการประชุมประจำเดือน ให้หัวหน้า/ผู้จัดการ ได้รับทราบและยึดถือเป็นแนวปฏิบัติให้ถูกต้องและเป็นทิศทางเดียวกันทุกหน่วยงาน การที่ผู้บริหารได้เล็งเห็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่เริ่มแรก จะทำให้พนักงานที่อยู่ในระดับเด็กๆ ที่จะต้องเติบโตขึ้นมาเป็นหัวหน้า/ผู้จัดการ จะได้ไม่คิดที่จะกระทำผิดระเบียบหลักเกณฑ์ของบริษัท ถ้าองค์กรใดก็ตามปล่อยให้พนักงานกระทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ มาตั้งแต่เริ่มแรก พอเติบโตมาเป็นผู้บริหาร ก็จะกระทำความผิดที่มีจำนวนเงินมากขึ้น อาจจะส่งผลกระทบ เกิดความเสียหายต่อบริษัท อย่างมากมายตามมา