การกระทำของพนักงานทั้งสองแบบถ้าผู้บริหารองค์กรไม่ให้ความใส่ใจแล้วจะส่งผลต่อพฤติกรรมพนักงานในอนาคตทันทีพฤติกรรมที่ผู้เขียน อาจจะยกมาเป็นประเด็นให้ผู้บริหารองค์กรได้เข้าใจ ถึงพฤติกรรมพนักงาน จากที่ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ตรง ตัวอย่างเช่น พนักงาน สมมุติว่า
นาย ก. มีพฤติกรรมเมื่อมาปฏิบัติงานแล้ว ตั้งแต่เวลา 8.00-12.00 น มักจะหายจากหน้าที่งาน ออกไปนอกบริเวณบริษัท โดยไม่บอกผู้บังคับบัญชาให้ทราบ จนบางครั้งเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินบริษัท พอหัวหน้าพบมักจะอ้างว่า ไปเคลียร์ปัญหาครอบครัว
นาย ข. มีพฤติกรรม คือ มักจะหยุดงานโดยไม่แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบ พอรุ่งเช้ามักจะหายไปเป็นประจำ โดยไม่มาปฏิบัติงานเลยทั้งวัน พออีกวันมาปฏิบัติงานจะมาเขียนใบลางาน บอกว่า ขอลาป่วย ไม่สามารถมาทำงานได้ หัวหน้าจะแก้ปัญหาอย่างไร จะให้ลาหรือไม่
ทั้งสองพฤติกรรมที่ผู้เขียนยกมา เป็นพฤติกรรมที่มักจะเกิดขึ้นจริง ในโรงงาน และส่วนใหญ่จากที่หัวหน้า ดำเนินการลงโทษพนักงาน โดยส่วนใหญ่ที่จากสอบถาม หลายๆ หน่วยงานมักจะบอกว่าจะลงโทษพนักงาน คือ นาย ก. หนักที่สุด เพราะว่าละทิ้งหน้าที่ออกไป โดยไม่บอกหัวหน้าก่อน และให้เหตุผลว่า การที่นาย ก.ออกไปนั้น หัวหน้าได้มอบหมายภารกิจสำคัญให้ทำงาน จัดคนให้ทำงานเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่เช้า พอสอบถามมาถึง นาย ข. ที่ลงโทษต่ำกว่าเพราะสาเหตุใด หัวหน้าจะอ้างเหตุผลว่า นาย ข. ยังไม่ได้ทำให้องค์กรเสียหายเท่ากับ นาย ก. ที่มาปฏิบัติงาน หัวหน้ามอบหมายงานแล้ว ละทิ้งงานไปจะมีโทษที่หนักกว่า และประเด็นที่นาย ข. ลงโทษน้อยกว่า ก็เพราะว่า นาย ข. ไม่มาตั้งแต่เช้า หัวหน้าสามารถบริหารจัดการ สำหรับพนักงานที่ไม่มาได้ตั้งแต่เช้า ซึ่งจะง่ายกว่า กรณีของ นาย ก. นั่นคือ เหตุผลโดยส่วนใหญ่ ของหัวหน้า ที่มักอ้างเหตุผลลงโทษนาย ก. หนักกว่านาย ข.
อยากให้ผู้อ่านลองนึกดูถึงความเป็นจริง ถ้ากรณีที่หัวหน้าโดยส่วนใหญ่ ลงโทษในลักษณะนี้ จะเกิดพฤติกรรมอะไรขึ้นกับพนักงานที่ มีพฤติกรรมทั้งสองแบบ ที่อยู่ภายในองค์กรเดียวกัน จากที่หัวหน้าได้ดำเนินการลงโทษพนักงานทั้งสองอย่าง ลักษณะดังกล่าว พนักงานที่มีพฤติกรรมแบบนาย ก. ก็เริ่มมีความรู้สึกว่า ทำไมเขาอุตส่าห์มาทำงานให้ตั้งแต่เช้า เพื่อให้หัวหน้ามีคนมาช่วยปฏิบัติงานได้ก่อน แล้วทำไมถึงต้องลงโทษหนักกว่า พนักงานที่หยุดงานไปทั้งวัน ซึ่งมองดูแล้ว อาจจะหนักกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะว่าหายไปทั้งวัน ความมีน้ำใจ การใส่ใจ และการทุ่มเท ดูน้อยกว่าเสียอีก แต่กลับถูกลงโทษที่เบากว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ พนักงานที่มีพฤติกรรมแบบนาย ก. เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยลอกเลียนแบบพฤติกรรมแบบนาย ข. บ้าง เพื่อที่จะถูกลงโทษน้อยลงเหมือนกัน
จะเห็นไหมครับว่า ถ้าหัวหน้าไม่ได้มองถึงพฤติกรรมในระยะยาว แล้วทำการลงโทษพนักงานตามพฤติกรรมดังกล่าว ก็จะได้พบปัญหาใหม่ที่พนักงานเริ่มเปลี่ยนแปลงแบบลัทธิเอาอย่าง จนทำให้เกิดความเสียหายตามมาต่อองค์ได้ ฉะนั้นการลงโทษ หัวหน้าต้องเข้าใจถึงประเด็นสำคัญ เรื่อง ความหนักเบาก่อนว่า จะเอาอะไรมาเป็นเหตุผล ในการลงโทษพนักงานทั้งสองพฤติกรรมได้ ซึ่งผู้เขียนมองว่าพฤติกรรมทั้งสองประเภทของพนักงาน เข้าข่ายเดียวกัน “ละทิ้งหน้าที่” หมายความว่า ลูกจ้างมีหน้าที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้าง แต่ไม่ทำหน้าที่หรือบกพร่องต่อหน้าที่หรือไม่มาทำงานตามที่นัดหมายไว้
การลงโทษควรจะอยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งของการหยุดไปของพนักงานในแต่ละคน จะเป็นการทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่า หัวหน้ามีบทลงโทษที่มีความยุติธรรมขึ้น มองถึงรายละเอียดเรื่องของความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งของบริษัท กรณีที่พนักงานได้หยุดไป เมื่อหัวหน้าได้มอบหมายงานไว้แล้ว จะทำให้ไม่เกิดพฤติกรรมเลียนแบบของพนักงาน ถ้ามองถึงความเป็นจริง ถ้าพนักงานเลียนแบบพฤติกรรมของนาย ข. ทั้งหมดผลที่จะเกิดขึ้นกับบริษัท ก็คือ หน่วยงานจะไม่มีพนักงานมาปฏิบัติงานเลย จะขาดงานไปทั้งวัน การลงโทษก็ไม่หนักเท่ากับ การละทิ้งไปแค่ครึ่งวัน หัวหน้างานจะต้องมีความเข้าใจ และสังเกตพฤติกรรมลูกน้องในสังกัด พยายามรับฟังความคิดเห็นของพนักงานที่ถูกลงโทษด้วยว่า มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง จะได้รับข้อมูลfeedback ของพนักงาน เพื่อนำข้อมูลนั้น มาแก้ปัญหาได้ถูกต้อง เหมาะสมมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนจะขอนำเสนอตัวอย่างที่เป็นการหยุดงาน ด้วนสาเหตุต่างๆ ว่ากรณีใดบ้าง ที่บริษัทสามารถ เลิกจ้างได้ ซึ่งการเลิกจ้าง นายจ้างต้องมีหนังสือตักเตือนมาแล้ว และลูกจ้างได้กระทำความผิดซ้ำคำเตือนในความผิดเดิม นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ตามกฎหมาย
ตัวอย่าง กรณีลูกจ้างละทิ้งหน้าที่การงานแต่มีเหตุอันสมควร นายจ้างเลิกจ้างไม่ได้
1. ละทิ้งหน้าที่เพราะเหตุสุดวิสัย เช่น กรณีน้ำท่วม ไฟไหม้ ถือว่ามีเหตุอันสมควร
2. ละทิ้งหน้าที่เนื่องจากสุขภาพ ถือว่ามีเหตุอันสมควร
3. ละทิ้งหน้าที่เพราะเหตุจำเป็นทางครอบครัว ถือว่ามีเหตุอันสมควร
4. ลูกจ้างหยุดงานเพื่อดูแลบุตรที่ป่วย ถือว่ามีเหตุอันสมควร
5. ลูกจ้างหยุดงานเพราะต้องดูแลมารดาที่ป่วย ถือว่ามีเหตุอันสมควร
6. ลูกจ้างหยุดงานไปร่วมงานศพมารดาสามี ถือว่าเป็นเหตุอันสมควร
7. ลูกจ้างหยุดงานไปจัดงานสมรสให้แก่บุตรสาว ถือว่าเป็นเหตุอันสมควร
ตัวอย่าง การละทิ้งหน้าที่ของลูกจ้างที่ไม่มีเหตุสมควร นายจ้างเลิกจ้างได้
1. ลูกจ้างนัดหยุดงานโดยไม่ชอบ ถือว่าละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
2. ละทิ้งหน้าที่เพราะถูกผู้จัดการหมิ่นประมาทเรื่องส่วนตัว ถือว่าไม่มีเหตุอันสมควร
3. นายจ้างมีคำสั่งย้ายออกโดยชอบแล้ว ไม่ไปปฏิบัติงานโดยอ้างว่าถูกนายจ้าง
กลั่นแกล้ง ถือว่าละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร
4. ลูกจ้างดื่มสุราจนดึก ทำงานในวันรุ่งขึ้นไม่ได้ ถือว่าไม่มีเหตุอันสมควร
5. ละทิ้งหน้าที่ 7 วัน ไปเยี่ยมภรรยาที่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อโดยไม่ยื่นใบลาตามระเบียบ
ถือว่าไม่มีเหตุอันสมควร
6. ละทิ้งหน้าที่ 3 วันไปเยี่ยมภรรยาและพาภรรยาไปพบแพทย์ ยังไม่ถือว่ามีเหตุอันสมควร
7. ละทิ้งหน้าที่ไปเยี่ยมมารดาที่ไม่ป่วยมากโดยไม่ลา ถือว่าไม่มีเหตุอันสมควร
การลงโทษของหัวหน้าก็ต้องไปดูข้อมูลของ ข้อบังคับของบริษัทด้วยว่า ได้กำหนดไว้อย่างไร ในกรณีที่พนักงานกระทำความผิดในแต่ละความผิด เพื่อที่จะได้ลงโทษพนักงานได้ถูกต้องและตามที่บริษัทได้กำหนดไว้ หลังจากนั้นก็ต้องศึกษาถึงแนวปฏิบัติที่ผ่านมาด้วยเช่นกันว่า การลงโทษพนักงานที่มีลักษณะเดียวกัน ลงโทษที่เหมือนกันหรือไม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใส ความยุติธรรมของพนักงานภายในองค์กร ในมาตรฐานเดียวกันด้วย