ผู้สมัครรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับองค์กรลักษณะใด

 

          มาถึงในยุคปัจจุบัน  เราต้องพิจารณาทำความเข้าใจกับผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่  ที่จะเข้ามาสู่องค์กร  แทบทุกองค์กรพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า  ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีความอดทน  ไม่ค่อยสู้งาน  ทำงานไปสักระยะหนึ่ง  ก็ออก  ไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบริษัท  สิ่งที่ได้ยกประเด็นมาทั้งหมดนี้  ถ้าผู้บริหารองค์กรไม่มีความเข้าใจ  ในตัวตนที่แท้จริงของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบจากรั้วมหาวิทยาลัยออกมา แล้วเดินเข้าสู่โลกอาชีพ    สิ่งที่ได้ปลูกฝังมาจากสถาบันครอบครัวก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้องๆ เหล่านี้  ไม่ค่อยจะมีความรับผิดชอบ  ไม่มีความอดทนอยู่แล้ว  เพราะครอบครัวเลี้ยงมากด้วย  การตามใจ  อยากได้อะไรต้องได้   มีพ่อ และแม่  ช่วยมาโดยตลอด  บางครั้ง  ครอบครัวไม่ได้ให้ความรู้  การสอนในสิ่งที่ถูกต้อง และมีเหตุมีผล  พอมาเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย  ก็มาอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่เป็นลักษณะคล้ายกัน  ก็มาอยู่ด้วยกัน มีแนวคิดแบบเดียวกัน  ก็ยิ่งทำให้  เกิดพฤติกรรมที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน  จนมีสโลแกนในมหาวิทยาลัยก่อนจบออกมาปฏิบัติงานที่ว่า  “ ถ้าเองไม่ได้ 15,000  อย่ากลับมาให้ข้าเห็นหน้า”  ทุกคนเลยตั้งเป้าหมายว่า  จะต้องเลือกองค์กรที่มีการจ้างงานที่มีรายได้อย่างต่ำเดือนละ 15,000 บาท    ถ้าไม่ได้ตามนี้ก็ต้องหาองค์กรที่จ้างงานแล้วมีรายได้เท่านี้ให้ได้     ฉะนั้นคนรุ่นใหม่จึงมุ่งมั่นที่มองรายได้ที่เป็นตัวเงินก่อนเป็นอันดับแรก  ไม่สนใจเงินที่เป็นสวัสดิการต่างๆ   สิ่งที่อยู่ไกลตัวเกินไปเช่น โบนัส ได้ปลายปีก็ไม่สนใจ

บริษัทที่มีข้อบังคับของบริษัทแบบเดิมๆ  จึงไม่ได้รับความสนใจจากผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นบริษัทที่มีแบนด์ดังๆ  แต่มีการจ่ายในลักษณะเดิมๆ  ก็ไม่ได้รับความสนใจจากผู้สมัคร  สำหรับบริษัทที่เกิดขึ้นรายใหม่  จะมีการปรับสวัสดิการให้สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น  เช่น  การจ่ายค่าจ้างเป็น 2 ระบบ

แพ็คเกจ A  มีอัตราเงินเดือนเริ่มต้นที่ 20,000 บาท  แต่สวัสดิการอื่นๆ ไม่มี   ไม่มีโบนัส

(นำโบนัสมามาบวกรวมในฐานค่าจ้างแล้ว)

แพ็คเกจ B    มีอัตราเงินเดือน  14,000 บาท  มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล

และโบนัสตามผลการปฏิบัติงาน

จากที่ได้ประกาศแพ็คเกจนี้ออกไป   คนรุ่นใหม่ได้ให้ความสนใจแพ็คเกจ  A เป็นจำนวนมาก  และสามารถบอกต่อให้กับเพื่อนๆ  ที่จบรุ่นเดียวกัน  มาสมัครที่องค์กรแห่งนี้  ซึ่งจะพอมองเห็นแล้วว่าการสร้างแรงจูงใจที่เป็นการดึงดูดให้ผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่  ให้เข้ามาสู่องค์กรในอันดับแรกเลยก็คือ อัตราค่าจ้าง

freserick-jpg

จากตัวอย่างที่ได้ยกมาก  จะไปสอดคล้องกับทฤษฏีของ  Herzberg   ว่าอัตราเงินเดือนจะทำให้เกิดความไม่พอใจในอันดับแรก  ถ้าองค์กรมีการปรับอัตราค่าจ้างเริ่มต้นที่จูงใจและเหมาะสมกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการก็จะทำให้  ผู้สมัครสนใจ และยินดีที่จะเข้ามาร่วมงานกับองค์กรได้

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่องค์กรได้มีการสร้างแรงดึงดูดให้ผู้สมัครเข้ามาสู่องค์กรแล้ว  แต่ระบบ และขั้นตอนการทำงานภายในไม่ดี  ก็ไม่สามารถที่ทำให้พนักงานที่เข้าไปปฏิบัติงานภายในองค์กรเกิดความรู้สึกที่ดี  มีงานที่ท้าทาย  องค์กรมีความเอาใจใส่ในคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เขา  ก็จะมีส่วนทำให้พนักงานที่เข้ามาปฏิบัติงานแล้ว  เกิดความประทับใจ  อยากร่วมงานกับองค์กร  ตามทฤษฏีของ  Herzberg  คือ พนักงานต้องการความสำเร็จ   การเจริญเติบโต ในหน้าที่การงานที่สูงขึ้น  ต้องการได้รับความยินดี ได้รับการยกย่องชมเชย  เมื่อทำงานประสบความสำเร็จ  ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีส่วนทำให้พนักงานได้ตัดสินใจอยู่กับองค์กร

ตามทัศนะของผู้เขียน  ที่ได้สัมภาษณ์พนักงานที่เข้ามาสู่องค์กรและเดินออกจากองค์กร ส่วนใหญ่มีความต้องการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันดังต่อไปนี้คือ

jpg

 

การจัดเตรียมความพร้อมสำหรับองค์กร  นอกจากสิ่งต่างๆ  ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  ปัจจัยที่ทำให้พนักงานอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร  อันดับแรกๆ เลยก็คือ  อัตราค่าจ้าง เป็นสิ่งแรกที่เขามองเป็นอันดับแรก  แต่เมื่อพนักงานได้เข้ามาสัมผัสองค์กรแล้ว  สิ่งที่ต้องการเห็นเป็นอันดับต้นเลยก็คือ

  1. คน  (people)     คนในที่นี้หมายถึงสองส่วนด้วยกัน คือ พนักงานภายในองค์กรทั้งหมด การที่ผู้สมัครอยากเห็น เมื่อเขาเดินเข้ามาภายในองค์กรแล้ว  สิ่งที่ประทับใจเลยก็คือ การต้อนรับจากคนภายในองค์กร  ว่าเห็นเขาเป็นคนสำคัญต่อองค์กรหรือไม่  มีการทักทายในสิ่งที่อยากให้มาร่วมงานภายในองค์กร  ยินดีต้อนรับน้องใหม่  ที่เข้ามาทำงานในบริษัทวันแรก  นั่นคือความประทับใจนั่นเอง    บางองค์กรพนักงานใหม่เข้าไปวันแรก ไม่มีใครให้การต้อนรับ  ทุกคนยุ่งกับงานตัวเองกันหมด  แม้กระทั่งการแนะนำ ว่าโต๊ะที่นั่งทำงานอยู่ตรงจุดใด ยังไม่มีใครพาไปเลย  แล้วความรู้สึกของพนักงานใหม่จะรู้สึกอย่างไร    อีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่อง คน ก็คือ  พนักงานในฝ่ายบุคคล  มีความเป็นมืออาชีพมากน้อยขนาดไหน  โดยเริ่มตั้งแต่การต้อนรับเมื่อพนักงานเดินเข้ามาสู่องค์กรในวันเขียนใบสมัครในครั้งแรก  การบริการเบื้องต้น  ในด้านการแนะนำบริษัท  การแนะนำอาคารสถานที่   และการเดินทางมาบริษัท  เป็นต้น  มีผู้สมัครท่านหนึ่งที่เคยพูดถึง เจ้าหน้าที่บุคคล ขององค์กรแห่งหนึ่งว่า  สิ่งที่เขาได้ตัดสินใจเลือกเข้ามาองค์กรนี้ ก็เพราะว่า  เจ้าหน้าที่บุคคลที่ชื่อ ….พี่อ้อย  โดยผู้สมัครได้เล่าว่า  พี่อ้อยได้โทรไปบอกถึงความคืบหน้าแทบทุกเดือนเลยว่า  ขณะนี้มีพนักงานตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้ได้ลาออกไปแล้ว  ไม่ทราบว่าน้องยังสนใจบริษัทนี้อยู่หรือเปล่า  ทั้งๆ ที่ตัวผู้สมัครเอง  ได้ปฏิบัติงานอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่งเรียบร้อยแล้ว  แต่ด้วยความเป็นกันเอง  อยากโทรมาคุย  และเล่าสถานการณ์บริษัท ให้ตัวเขาฟังเรื่อยมา  จนกระทั่งมีความสนิทสนมกัน  โดยทางโทรศัพท์  และมีปัญหาเรื่องงานที่บริษัท  ก็จะปรึกษาพี่เขามาตลอด จนทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อฝ่ายบุคคล  ที่ให้การแนะนำที่ดี สำหรับเรื่องงานมาโดยตลอด  จนกระทั่งมาวันหนึ่ง  จึงได้ตัดสินใจลาออกจากบริษัทที่ทำปฏิบัติงานอยู่  มาร่วมงานกับกับบริษัทที่เป็นพี่ฝ่ายบุคคล  คอยโทรหาและแก้ปัญหาในงานมาตลอด   สิ่งที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมา  เพื่อให้เป็นตัวอย่างหนึ่ง  ของคนภายในฝ่ายบุคคลเอง  ต้องแสดงความเป็นกันเอง  เอาใจใส่ผู้สมัครทุกราย  ที่เดินเข้ามาสู่องค์กร  ถึงแม้ว่าผู้สมัครดังกล่าว จะได้งานที่องค์กรอื่นแล้วก็ตาม  ก็ยังถือว่าเขายังเป็นลูกค้าคนสำคัญของเรา  เมื่อถึงเวลาหนึ่ง  เขาอาจจะตัดสินใจมาร่วมงานกับเราในอนาคตก็ได้เช่นกัน
  2. กระบวนการ (Process) จากหัวข้อแรกที่ได้กล่าวไป คือ เรื่อง คน  ถ้าในส่วนแรก คนภายในองค์กรมีอัธยาศัยดี  ย่อมส่งผลให้ผู้สมัครอยากเข้าใกล้  สิ่งที่ตามมาจากเรื่องคน  ก็คือ กระบวนการทำงาน   ถ้าในองค์กรมีปรับเปลี่ยนการทำงานให้ทันสมัย  สอดคล้องกับคนในยุคสมัยใหม่แล้ว  ก็ยิ่งทำให้ ถูกใจ และเกิดความประทับใจมากยิ่งขึ้น  ตัวอย่างเช่น  การปรับระบบการเขียนใบสมัคร  มาเป็นการใช้ระบบคอมพิวเตอร์  เราต้องเข้าใจพื้นฐานของคนรุ่นใหม่  การเขียนหนังสือ บางคนมองว่าเป็นความลำบากมาก ถ้าให้ใช้คอมพิวเตอร์  จะสามารถใช้งานได้คล่องกว่า   เมื่อสมัยก่อนการเดินทางเข้ามายังบริษัท กว่าจะได้ทำงาน  ต้องใช้เวลาหลายวัน  จึงจะได้ปฏิบัติงาน  แต่พอมาถึงยุคดิจิตอล  กระบวนการต่างๆ  ได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้  ให้มีความทันสมัย รวดเร็วขึ้น  จะเห็นชัดเจน คือ  เมื่อก่อนพนักงานก่อนเข้าปฏิบัติงานต้องบันทึกบัตร  ก่อนเข้าปฏิบัติงาน  พอมายุคปัจจุบัน  เราใช้การสแกนลายนิ้วมือ  หรือบางองค์กรใช้วิธีเดินผ่านกล้อง  ก็สามารถบันทึกข้อมูลการมาปฏิบัติงานได้แล้ว

          การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้ การทำงานนั้นง่ายขึ้น  สะดวกด้วยกันทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้สมัคร  ก็จะทำให้เกิดความแตกต่างในการทำงาน  และยังทำให้ได้รับการตอบรับจากผู้สมัครรายอื่นๆ  ด้วยการบอกต่อกันไป  ดังตัวอย่างที่องค์กรได้มีการปรับปรุงกระบวนการ  เช่น  การเก็บประวัติด้วยระบบอิเลคทรอนิกส์  ไม่ว่าจะเป็น สำเนาทะเบียนบ้าน  สำเนาบัตรประชาชน  สำเนาวุฒิการศึกษา  เป็นต้น    เมื่อองค์กรลดกระบวนการทำงานลงลักษณะนี้  ก็จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย  ประหยัดเวลาในการทำงาน และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับคนรุ่นใหม่  ที่มองถึงความเป็นมืออาชีพ ความเป็นมาตรฐานขององค์กรอีกด้วย   นอกจากนั้นการปรับกระบวนการทำงานยังไปตอบโจทย์ ให้กับพนักงานที่มีประสบการณ์ในการทำงาน  แต่อยากจะเปลี่ยนงานไปอยู่องค์กรที่เขาสนใจ  ถ้าเป็นองค์กรสมัยก่อน  พนักงานจะต้องเดินทางเข้ามายังองค์กรอย่างน้อยประมาณ 4-5 ครั้ง    ยิ่งพนักงานที่ไม่มีวันลาในปีนั้นๆ เพื่อที่จะลามาทำตามกระบวนการของบริษัทใหม่ที่เขาต้องการร่วมทำงานด้วย  ก็จะทำให้เสียโอกาสไป  ฉะนั้นการลดกระบวนการทำงานของงาน HR  ก็จะทำให้ได้มีโอกาส  ในการได้ผู้สมัครที่มีความสนใจขององค์กรอย่างแท้จริง

  1. ระบบการทำงาน (System) ถึงที่สุดแล้ว  พนักงานที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับองค์กร  ก็อยากเห็นบริษัทหรือองค์กรของเขา  ที่ปฏิบัติอยู่  มีระบบในการทำงานอย่างเป็นมาตรฐาน  มีความเป็นมืออาชีพ  มีความเป็นธรรมทั้งภายในและภายนอก และมีความยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ

      เมื่อมีระบบกระบวนการทำงานที่มีความชัดเจน  มีความยุติธรรม และมีความเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงาน  ก็จะส่งผลให้ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของพนักงานในองค์กร  เมื่อระบบขององค์กรมีความเป็นมาตรฐานมืออาชีพแล้ว  คนภายในองค์กรย่อมมีการทำงานที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ มองเป้าหมายขององค์กรเป็นหลัก ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง  สุดท้ายจะส่งผลต่อองค์กรในภาพรวมอย่างแน่นอน

จากสามหัวข้อที่ได้กล่าวมา  จะเห็นได้ว่า การที่ผู้สมัคร ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่  จะเลือกบริษัทที่เขาสนใจ  แน่นอนอันดับแรกเรื่องรายได้  รองลงมาคือ ความมั่นคง  แต่จากที่บางองค์กรไปเพิ่มรายได้ให้พนักงานสูงขึ้น  แต่กระบวนการทำงาน  ระบบการทำงาน  ยังไม่เป็นที่ยอมรับ  ไม่มีมาตรฐาน  พนักงานก็ไม่เลือกอีกเช่นกัน  ฉะนั้นผู้บริหารองค์กร จึงพยายามสร้างองค์กรให้มีความเป็นทีม คือเน้นไปที่ คนภายในองค์กร  ให้มีความเป็นมืออาชีพด้านการบริการ ด้านการทำงานเป็นทีม  เมื่อคนภายในองค์กรมีการพัฒนาศักยภาพไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว  ย่อมส่งผลให้กระบวนการทำงานที่มีความผิดพลาดน้อยลง  มีสิ่งนวัตกรรมใหม่ๆ ของกระบวนการทำงานมาปรับปรุงให้กระบวนการทำงานขององค์กร มีความราบรื่นตลอด จะนำมาซึ่งลูกค้าเกิดความประทับใจ เกิดความพึงพอใจเพิ่มมากขึ้น  จะเห็นได้ว่าถ้าทั้งสองส่วนมีความพร้อม จะทำให้ มีแนวปฏิบัติในการทำงาน ทุกหน่วยงาน  มีการประสานงานกันอย่างราบรื่น ส่งผลต่อระบบในการทำงานขององค์กร  เมื่อมีระบบในการทำงาน บริษัทจะจ่ายค่าตอบแทน  การพิจารณาแต่งตั้ง เพื่อให้พนักงานมีการเจริญเติบโตมีหน้าที่การงานที่สูงขึ้น  ย่อมมีความเป็นธรรม  ตามที่ระบบได้จัดทำเอาไว้  จึงเป็นที่มาของการที่พนักงานอยากเห็นบริษัทหรือองค์กรในฝันของเขามีทั้งสามหัวข้อนี้

 

 

 

ดร.กฤติน   กุลเพ็ง   กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ไอโอดีคอนเซาท์ติ้ง แอนด์เทรนนิ่ง จำกัด

วิทยากรและที่ปรึกษา ให้กับภาครัฐและภาคเอกชน