ภารกิจสำคัญที่ท้าทายฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ที่จะบริหารจัดการเรื่อง คน เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อน องค์การให้ประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ถ้าพูดถึงเรื่อง คน คงไม่พ้นการให้ความสำคัญกับกลุ่มพนักงานที่ผลการปฏิบัติงานสูง หรือเป็นพนักงานดาวเด่นขององค์การ นั่นเอง สิ่งสำคัญที่ทำให้พนักงานเหล่านั้นมีผลการปฏิบัติงานที่ดีเลิศ จะเป็นความสามารถส่วนบุคคลทางธรรมชาติที่แต่ละคนมีมาแต่กำเนิดที่เราเรียกว่า “พรสวรรค์” หรืออาจจะเป็นความมุ่งมั่นในการทำงานที่จริงจัง อันประกอบไปด้วยการฝึกฝนอบรมพัฒนาอย่างสม่ำเสมอของแต่ละคนหรือที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “พรแสวง”
ในองค์การขนาดใหญ่ส่วนมากจะเชื่อเรื่องความสามารถภายในของบุคคล โดยจะมุ่งไปทำการสรรหาคัดเลือกผู้สมัครที่เรียนเก่ง (ดูว่าได้เกรดเฉลี่ยเท่าไร) จบจากสถาบันไหน เรียนคณะใด และได้เกียรตินิยมหรือเปล่า จนในบางครั้งบางองค์การได้เข้าไปจองตัวผู้สมัครที่ยังไม่จบจากรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันทำให้เกิดการแย่งชิงผู้สมัครที่จะเป็นพนักงานดาวเด่นขององค์การในอนาคต แต่อีกหลายองค์การเริ่มมีความเชื่อว่า ความขยันหมั่นเพียร การทำงานหนัก และการพัฒนาตัวเองมีความสำคัญมากกว่าความสามารถส่วนตัวที่มีมาตามธรรมชาติ โดยองค์การเหล่านี้ไม่มองถึงคุณสมบัติที่ติดตัวมาแต่จะดูถึงความมุ่งมั่น ความตั้งใจ การสนใจและใส่ใจ ซึ่งได้มาจากการสัมภาษณ์งาน เมื่อรับพวกเขาเข้ามาทำงานแล้วก็จะไปเน้นถึงการสร้างระบบและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เกื้อหนุนให้พนักงานได้พบในสิ่งที่เขาชอบและต้องการ ทำให้เพิ่มขีดความสามารถ ที่จะทำให้เกิดผลงานที่เป็นเลิศได้
ทั้งสองแนวความคิดที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนนัก จนกระทั่งมีนักจิตวิทยา ชื่อ ศาสตราจารย์ เค แอนเดอร์ส อีริคสัน (Professor K. Anders Ericsson) ชาวสวีเดน กับทีมงานวิจัยของเขาได้ใช้เวลาหลายปีเพื่อศึกษาคนเก่ง (Top Performers) ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ วิทยาศาสตร์ กีฬา คณิตศาสตร์ โดยทำการวิเคราะห์หาปัจจัยต่างๆ ทั้งสถิติด้านกายภาพและด้านชีวภาพ ที่ทำให้กลุ่มทดลองดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญและชำนาญ ในที่สุดทีมงานวิจัย พบว่า การตั้งใจฝึกฝนเพื่อพัฒนา ความสามารถ ความชำนาญจะมีประสิทธิภาพดียิ่ง เมื่อนำไปใช้ร่วมกับการตั้งเป้าหมายในการทำงาน การให้เห็นสะท้อนกลับ และการมุ่งเน้นใช้เทคนิคการทำงานต่างๆ
อาจจะเป็นข้อสรุปได้คร่าวๆและให้เข้าใจง่ายๆ ว่า งานวิจัยนี้ได้ผลสรุปที่เอื้อต่อ พรแสวงหรือการเรียนรู้ การมุ่งปฏิบัติ จะเป็นตัวนำไปสู่ผลการปฏิบัติงานที่ดีเลิศแทนที่จะเป็นพรสวรรค์ที่ติดตัวมาของแต่ละคน ผลงานวิจัยครั้งนี้ก่อให้เกิดการวิพากย์วิจารณ์ในวงการธุรกิจและการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ การที่แต่ละองค์การจะเปลี่ยนความเชื่อที่มีอยู่ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์การเป็นกรณีไป
เรามาลองวิเคราะห์ผลงานวิจัย จากหัวข้อว่า “การฝึกฝน” เราคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา การเรียนภาษาต่างประเทศ และรู้ดีว่านั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราได้เพิ่มและพัฒนาทักษะในด้านนั้นๆ สำหรับในโลกธุรกิจแล้วจะเป็นในรูปแบบของการเรียนรู้และการพัฒนาโดยการลงมือปฏิบัติงานจริง และปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการฝึกฝน เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพในงานดังกล่าวได้ อย่างเป็นระบบ ซึ่งอาจจะเห็นจากบางองค์การให้มีการฝึกฝนทักษะของพนักงานกับการจำลองสถานการณ์เพื่อให้พวกเขามีโอกาสได้ฝึกเพื่อเสริมทักษะกันจริงๆ
ในแนวคิด ของ ดร.เทอดทูน ไกศรีวิชัย ผู้บริหารด้านพัฒนาประสิทธิภาพองค์การ ของ 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีความเห็นคล้อยตามกับงานวิจัยนี้ว่า คนเราไม่จำเป็นต้องเก่งมาตั้งแต่กำเนิดเพื่อที่จะมาเป็นดาวเด่นขององค์การ ซึ่งหลักการนี้ได้มีการศึกษากันอย่างกว้างขวางจนกระทั่งถึง “ความเป็นผู้นำ” ก็ไม่ได้มาตั้งแต่กำเนิด สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เขาค้นพบงานที่เขารัก นั่นคือเครื่องกระตุ้นให้พวกเขาสนใจและตั้งใจที่จะฝึกฝนโดยตัวเขาเอง ทักษะก็จะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเป็นธรรมชาติ จนทำให้เขาได้มีโอกาสเป็นพนักงานที่มีผลการปฏิบัติงานสูงได้ในที่สุด โดยองค์การควรจะมีการออกแบบงานและนโยบายเกี่ยวกับความก้าวหน้าในอาชีพที่ทำให้พนักงานสามารถค้นพบและพัฒนาทักษะของงานที่เขารัก ซึ่งท่านได้เสริมคำกล่าวของ ศาสตราจารย์ เค.แอนเดอร์ส อิริคสัน ที่ว่าพวกเราหลายคนเชื่อว่าแต่ละคนมีความเก่งเฉพาะด้านติดตัวมาตั้งแต่เกิดแต่เป็นที่น่าแปลกใจว่าหลักฐานยืนยันถึงความเชื่อนั้นมีน้อยมากเพราะส่วนมากหลักฐานจะสนับสนุนว่าคนเราไม่สามารถมีผลการทำงานสูง โดยปราศจากการฝึกฝนเพื่อให้บรรลุถึงสิ่งนั้นมากกว่า
สำหรับแนวคิดของผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่า พนักงานที่จะเป็นพนักงานดาวเด่นได้นั้น ต้องเป็น คนเก่งและคนดี ต้องประกอบไปด้วยกันทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน คนที่เป็นคนดีได้นั้นส่วนหนึ่งได้มาจากสังคมครอบครัว ได้หล่อหลอมมาตั้งแต่ยังเล็กให้เขาได้มี ทัศนคติที่ดี มีคุณธรรม ที่ติดตัวมาหรืออาจจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีมาด้วยยิ่งทำให้ช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจด้านนี้ได้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขี้นด้วย หรือที่เรียกว่า “พรสวรรค์” ส่วนคนเก่งได้มาจากการ ฝึกฝน ความตั้งใจ และการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา จะส่งผลให้เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นคนเก่งในที่สุด ที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการ คือ “พรแสวง” ถ้าองค์การใดที่มีทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันแล้วจะส่งผลให้ งานทุกอย่างประสบความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์การได้อย่างราบรื่น เพราะมีพนักงานดาวเด่นที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดีอยู่ในองค์การเสียส่วนใหญ่ ถ้าในทางกลับกันองค์การมีคนเก่งแต่ไม่ค่อยดีก็จะเกิดปัญหาเรื่อง ทีมงาน เกิดความขัดแย้ง ซึ่งจะส่งผลต่อผลประกอบการขององค์การโดยรวมได้เช่นกัน