จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เป็นสิ่งหนึ่งที่ตัวผมเองได้ประสบปัญหากับตนเองและได้ใช้เทคนิคนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงาน ซึ่งชีวิตการทำงานของพนักงานที่อยู่ในโรงงานที่ประจำอยู่ต่างจังหวัด ห่างไกลจากตัวเมืองพอสมควร การเจ็บไข้ได้ป่วย ย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ มักจะเกิดขึ้นได้

เมื่อประมาณ พ.ศ. 2533  ตัวผมเองได้รับการสัมภาษณ์งานและบรรจุแต่งตั้งไปดำรงตำแหน่ง เป็น เจ้าหน้าที่บุคคล ประจำอยู่ โรงงานผลิตกระเบื้องปูพื้นและบุผนังแห่งหนึ่ง ในเขตจังหวัด สระบุรี  ขณะที่ไปทำงานใหม่ๆ บรรยากาศการทำงานเป็น สังคมพื้นบ้าน โรงอาหารยังไม่มีให้กับพนักงาน ต้องอาศัยรับประทาน ร้านอาหารชุมชนหมู่บ้านที่ เปิดขายอยู่ไม่กี่แห่ง ในช่วงฝนตกมักจะพบปัญหาอุปสรรคมากมาย เช่น ความสะอาด แมลงวัน และเส้นทางเดินไปยังร้านอาหาร  เหตุการณ์ที่ประสบกับตนเองในวันที่ไปรับประทานอาหารในอาทิตย์แรก ซึ่งไม่คุ้นเคยกับ รสชาด อาหาร และสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างสกปรก พอตกตอนกลางคืน เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็มาเยือน คือ อาการท้องเสียอย่างกะทันหัน ทั้งอาเจียน และถ่ายท้อง จนตัวเองรับรู้ว่า ขณะนั้นไม่ไหวแล้ว มองเห็นดาว ระยิบระยับ อาการหนาวสะท้านไปทั้งตัว นั่นคืออาการที่ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง ในห้องพักก็อยู่ลำพังเพียงคนเดียว ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเพื่อนข้างห้องได้เลย เนื่องจากเป็นช่วงพักและดึกแล้ว ด้วยสัญชาติญาณของมนุษย์ ที่ต้องพยายามเอาตัวรอด ความคิดช่วยนั้นที่มันแวบเข้ามาคือ ต้องติดต่อแพทย์หรือพยาบาลที่ประจำอยู่ในโรงงานตลอด 24 ชั่วโมงให้ได้  ก็นับว่าเป็นสิ่งที่โชคดีที่ ผมเองได้ดูแลสถานพยาบาลในโรงงานอยู่แล้ว จึงพอจำหมายเลขโทรศัพท์ของสถานพยาบาลได้ จึงได้ตัดสินใจโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือ กับพยาบาลที่ประจำอยู่ ณ ขณะนั้น โดยเล่าอาการให้ฟังทั้งหมด เมื่อพยาบาลได้ทราบ ก็ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่เวรของโรงงาน ขับรถขึ้นมารับตัวผมไปส่ง โรงพยาบาลประจำ อำเภอ ซึ่งขณะนั้นตัวผมเองไม่สามารถเดินลงมาจากบ้านพักด้วยตัวเองได้เลย เหมือนคนเป็นลมไม่มีแรงเอาเสียเลย ต้องรบกวนเจ้าหน้าเวรโรงงานประคองมายังรถเพื่อนำส่งโรงพยาบาล  เมื่อไปถึงโรงพยาบาล ทางพยาบาลก็ได้มาวัดความดันและให้น้ำเกลืออย่างขะมักเขม้น และผมก็หลับไป มารู้สึกตัวอีกครั้ง เมื่อตอนเช้าวันรุ่งขึ้น  รู้สึกหิวกระหายน้ำเป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่รู้จะบอกใครได้เพราะว่าไม่มีญาติมาเฝ้า (โรงพยาบาลรัฐบาล มักจะไม่มีบริการในเรื่องนี้) ผมนอนคิดไปสักพักหนึ่งว่าจะติดต่อรบกวนใครดี  เหมือนสวรรค์มาโปรดมีเจ้าหน้าที่ธุรการของ โรงพยาบาล ที่เคยไปขึ้นเวรที่โรงงานที่ผมทำอยู่ ได้เดินมาส่งเอกสารที่เคาเตอร์ มองเห็นผมและพร้อมกับยกมือไหว้ ทักทายถึงอาการเจ็บป่วยว่าเป็นมาอย่างไร และรับอาสาช่วยเหลือที่จะไปซื้ออาหารและน้ำมาให้กับผมเอง  ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้เหมือนตัวผมเองได้รับบทเรียนวิชาหนึ่งที่ต้องจดจำมากกว่าภาคทฤษฎี  เพราะเมื่อผมได้รับประทานอาหารมื้อเช้าที่ น้องธุรการได้จัดซื้อมาให้ผมโดยเงินส่วนตัวของเขา โดยทีไม่ได้รับการขอร้องจากผมแต่อย่างใด ยามผมหลับ หลังจากทานอาหารเช้ามื้อแรกแล้ว ผมเห็นหน้าน้องธุรการท่านนี้ตลอด เขาทำให้ผมเองได้รับ ความศรัทธา ความเอื้ออาทร  จากน้ำใจการช่วยเหลือของเขาในวันนี้ ถึงแม้ว่าน้องจะไม่ได้มาปฏิบัติงานในช่วงกลางคืน น้องเองยังมีน้ำใจฝากคนขับรถพยาบาลซื้ออาหารมาให้ผมรับประทาน  จากเหตุการณ์ที่ผมได้รับความปรารถนาดีจากน้องธุรการ ของโรงพยาบาลที่เอาใจใส่ดูแล จนผมได้แง่คิดไว้อย่างหนึ่งว่า  ผมจะนำไปใช้ในชีวิตของการทำงานของตัวผมเอง ที่ผมได้รับตำแหน่งในบริษัทนี้อยู่  หลังจากผมได้ออกจากโรงพยาบาลแห่งนี้แล้ว ก็ได้ไปขอบคุณแพทย์และพยาบาลที่ช่วยดูแลรักษา  สิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ก็คือนำเงินค่าอาหารไปให้น้องธุรการพร้อมกับคำขอบคุณที่ผมได้รับจากน้อง  ซึ่งน้องเองก็ไม่กล้าที่จะรับเงินจากผม จนผมต้องยกมือไหว้ขอร้องให้น้องรับเงินของผมเอาไว้

หลังจากผมได้มาพักที่บ้านพักของบริษัท ก็ยังนึกถึงหน้าน้องธุรการที่ได้ซื้ออาหารมาเยี่ยมไข้ให้ผมเป็นคนแรกอยู่ตลอดเวลา  เมื่อถึงวันจันทร์ที่เป็นวันแรกของสัปดาห์ที่ผมมาปฏิบัติงานหลังจากเข้าโรงพยาบาล ก็ได้มาเล่าให้ทีมงานของฝ่ายบุคคลฟังถึงเรื่องที่ได้เกิดขึ้นกับผม และได้เสนองบประมาณส่วนหนึ่งเป็นของเยี่ยมไข้ให้กับพนักงาน และได้ตั้งปณิธาณกับตัวเองว่า เมื่อพนักงานเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ผมจะเป็นคนแรกที่จะถือของเยี่ยมไปให้กับพนักงานและจะถือโอกาสไปช่วยเหลือพนักงานที่อาจจะประสบปัญหาเรื่อง ค่าใช้จ่ายหรือด้านการรักษาพยาบาล ของโรงพยาบาล ที่เราพอจะช่วยเหลือได้ในฐานะเป็นตัวแทนของบริษัท  ซึ่งเป็นอันดับแรกที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

ประเด็นที่สอง ที่ผมได้ดำเนินการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้กับพนักงานไปด้วยก็คือ พนักงานที่อยู่กะดึก เมื่อครั้งก่อนต้องมานั่งรอผู้บริหารเซ็นใบส่งตัวเข้าโรงพยาบาล ในช่วงประมาณ  8.30 น. ถึงจะไปพบแพทย์ได้ ผมเลยขออาสามาพบพนักงานอาทิตย์ละ 1 วันโดยเฉพาะวันศุกร์ จะมาอำนวยความสะดวกตั้งแต่เวลา 7.00 น.  ที่พนักงานจะมารอลายเซ็นใบส่งตัวเพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดของบริษัท

            จากการประเมินผลในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา เสียงตอบรับจากพนักงานในโรงงานดีมาก พนักงานเกิดความรู้สึกที่ดีต้ององค์การ พูดในเสียงเดียวกันว่า บริษัทมีความใส่ใจในความเป็นอยู่ของพนักงาน โดยเฉพาะชื่อของ ผม ได้ติดปากของพนักงานในโรงงานจนจำได้ว่าถ้ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นก็แล้วแต่ มักจะขึ้นมาพบผมเป็นคนแรก จนได้รับความไว้วางใจจากพนักงานเสียส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่เราทำ สำหรับตัวผมเองก็ไม่ได้หวังผลอะไรตอบแทน ว่าจะต้องมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้น เพียงแต่อยากจะทำในสิ่งที่เราอยากทำและตอบแทนคุณงามความดีของ น้องธุรการที่ได้ช่วยเหลือผมให้รอดชีวิตจากการเจ็บป่วยในครั้งนั้น สิ่งที่เราได้ทำ ใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี จะเห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉลี่ยพนักงานเจ็บป่วยที่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เดือนละ 3 คน คิดเป็นปี ก็ 36 คน ในปีหนึ่งๆ ผมจะได้ไปรู้จักพนักงานและช่วยเหลือ ประมาณ 36 คน  ผมอยู่ที่บริษัทแห่งนี้มา 8  ปี ผมได้สัมผัสพนักงานที่คนไข้ในที่ไปนอนป่วยในโรงพยาบาล ประมาณ  288  คน จากพนักงานทั้งหมด 700 คน คิดเป็นเปอร์เซ็นก็ประมาณ 41 %  ข้อมูลนี้ยังไม่รวมพนักงานที่เป็นคนไข้นอกที่ผมได้เซ็นใบส่งตัวทุกๆ วันศุกร์  เมื่อถึงเวลาที่ผู้บริหารระดับสูงพิจารณาพนักงานที่จะได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งระดับที่สูงขึ้นไป  ก็จะมีอานิสงส์ของสิ่งเหล่านี้มาช่วยให้เราได้บรรลุเป้าหมายของชีวิตในหน้าที่การงานได้ ซึ่งมีผู้บริหารท่านหนึ่งได้ให้เทคนิคของการทำงานไว้ให้ผมยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ไว้ว่า  การทำงานขอให้ทำงาน แบบตั้งใจทำ  100 % และให้หวังเพียง  50 %  ถ้าเกิดกรณีที่ไม่บรรลุตามเป้าหมายเราจะได้เสียใจแค่เพียง  50

 

ดร. กฤติน กุลเพ็ง

“ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่บริหารวัฒนธรรมองค์กร และ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประสบการณ์ในการทำงานในเครือซิเมนต์ไทยมา 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ สอนด้าน Human Resource Management มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน”