จากสุภาษิตโบราณ ที่ได้กล่าวไว้ เพื่อเป็นการสอนคน ซึ่งเป็นทั้งผู้บริหารและพนักงาน เพื่อให้เกิดความตระหนักในการทำงาน บางครั้งก็จะเป็นหารเตือนสติ พนักงานที่เป็นพนักงานระดับบริหาร ไม่ให้หลงประเด็นไป โดยเฉพาะการสอนโดยใช้สุภาษิต จะทำให้เกิดความจำ และนำไปใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดผลทางในปฏิบัติได้
จากคำสุภาษิต อยู่สูงให้นอนคว่ำ นั้นแปลความหมายเป็นอย่างไร จากคำสุภาษิตได้เปรียบเปรยว่า ถ้าองค์กรใดที่มีพนักงานตำแหน่งหน้าที่การงานที่อยู่ในระดับสูง ถ้าอยู่ตำแหน่งสูงๆ แล้ว จะต้องให้ความสำคัญกับพนักงานในระดับที่ต่ำกว่า หรือผู้ที่เป็นลูกน้องนั่นเอง โดยให้หัวหน้าหรือผู้จัดการจะต้อง คอยดูแล ความเป็นอยู่ให้แก่ลูกน้องที่ปฏิบัติงานอยู่ โดยเปรียบเหมือนการนอนคว่ำหน้า หัวหน้าและผู้จัดการ ก็จะมองเห็นลูกน้องในสังกัดว่า มีความเป็นอยู่และปฏิบัติงานเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าไม่ได้ใส่ใจเลย ก็จะทำให้ลูกน้องที่ทำงานอยู่เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อองค์กร หรือมององค์กรไปในทางที่ติดลบ จากคำกล่าวของสุภาษิตไทยโบราณ ก็จะเป็นการกระตุ้นเตือนให้นักบริหารที่เป็นผู้บริหารระดับสูงให้มีความตระหนัก ถึงเรื่อง การดูแลความเป็นอยู่ของลูกน้อง การแก้ปัญหาในการทำงาน และการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งผู้เขียนจะยกตัวอย่างหัวหน้างานและผู้จัดการจะต้องทำหน้าที่อย่างไร เพื่อให้ลูกน้องเกิดความรู้สึกที่ดี ดังต่อไปนี้
- ได้รับความเคารพจากผู้ใต้บังคับบัญชา เนื่องจากการทำงานหนัก และมีความรับผิดชอบสูง
- ปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ (เท่าเทียมกัน)
- มีการพูดคุยอย่างเปิดเผยกับผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา
- มีสติ และมีเหตุผลอยู่เสมอ แม้ว่าจะพบกับปัญหาที่ยุ่งยาก
- สนับสนุนให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ก้าวหน้า
- แบ่งงานได้อย่างชัดเจน
- ชื่นชมผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อทำงานได้ดี
- คอยแก้ไขผู้ใต้บังคับบัญชาที่ทำงาน ไม่ดี หรือขาดวินัย
- ขอโทษอย่างจริงใจเมื่อเกิดความผิดพลาด
- รับฟังความคิดเห็น และคำแนะนำของผู้ใต้บังคับบัญชาตามความเหมาะสม
- ให้ผู้ใต้บังคับบัญชา มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
- ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นได้
เมื่อผู้บริหารได้มองเห็น กระบวนการทำงานของลูกน้องแล้ว ก็จะสามารถแก้ปัญหา และสามารถมองลูกน้องได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลถึงเรื่อง การประเมินผลการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง และเกิดความยุติธรรมและความโปร่งใสตามมา ฉะนั้นบทบาทที่สำคัญของหัวหน้า ที่จะต้องปฏิบัติต่อลูกน้อง ควรจะมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
- ดูแลให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูง
- สื่อสารกับผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา
- ตรวจสอบ และดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา
- สอนงานและเสนอแนะความคิดเห็นต่อผู้ใต้บังคับบัญชา
- แก้ไขปัญหาที่พบระหว่างทำงาน
- ดูแลเรื่องระเบียบวินัย
- เคารพและยึดมั่นในสิทธิของพนักงาน
จากคำสุภาษิตอีกคำหนึ่ง ที่ได้กล่าวไว้คือ อยู่ต่ำให้นอนหงาย ก็จะเป็นในทางตรงกันข้ามจากคำที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ ถ้ามองภายในองค์กรหรือบริษัท ก็คือ พนักงานในระดับล่าง ที่ต้องทำงานในหน้างาน จะต้องมีหน้าที่หรือมีพฤติกรรมทำงาน โดยการที่จะต้องเรียนรู้กระบวนการทำงานให้มากขึ้นกว่าที่ทำอยู่ ซึ่งจะต้องดูผู้ที่ปฏิบัติงานรุ่นพี่ๆ ที่ทำงานได้ดี และต้องเรียนรู้ตามพนักงานที่มีระดับสูงกว่า เพื่อที่จะได้ทำงานที่รับผิดชอบให้ประสบความสำเร็จได้นั่นเอง ถ้าอยู่ตำแหน่งต่ำๆ แล้ว ให้นอนคว่ำ ก็จะไม่เห็นเพื่อนๆ หรือรุ่นพี่ๆ ที่ทำงานอยู่เลย และจะทำให้ตัวเองไม่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่เพิ่มขึ้นมา สุภาษิตจึงได้สอนให้พนักงานระดับล่าง จะต้องเรียนรู้ และลอกเลียนแบบอย่างที่ดี ของหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาที่อยู่ในระดับสูง ถ้านอนหงายผู้ที่เป็นพนักงานระดับล่าง ก็จะได้มองเห็นแบบอย่างที่ดี ของผู้ปฏิบัติงานภายในองค์กรหรือบริษัท และสามารถนำมาปรับใช้ ในการกระบวนการทำงานของเราได้นั่นเอง
การที่ลูกน้องได้แนวคิดในการทำงาน ก็จะสามารถนำแนวคิดนั้นมาปรับปรุงใช้ในการทำงานให้ดีขึ้น โดยการ นำมาใช้ในการลดขั้นตอนในการทำงาน ไม่ว่าจะ รวม เปลี่ยนขั้นตอน ตัด นำเครื่องมือ/อุปกรณ์มาช่วย เพื่อจะให้งานที่ทำนั้นง่ายสะดวก เกิดความรวดเร็ว
จากสุภาษิตโบราณ ก็จะนำมาเป็นวิถีทางในการทำงานในยุคปัจจุบันได้ เช่นกัน โดยกระบวนการทำงานไม่ว่าจะเป็นยุคใดก็ตาม เทคนิคและวิธีการทำงานคงยังไม่ทิ้งการบริหารจัดการที่มีอยู่เดิมได้ เพียงแต่ยุคปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้ในการในกระบวนการทำงานให้เกิดความคล่องตัวขึ้น ทักษะด้านการใช้อุปกรณ์/เครื่องจักร ในการทำงานจึงต้องมีการปรับปรุงใหม่ให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้นเอง
โดย ดร.กฤติน กุลเพ็ง
Updated 19.12.2013